หมวดหมู่ผลงาน

สำนัก

ประเภทผลงาน

เจ้าของลิขสิทธิ์

ชื่อผลงานทางวิชาการ

รายงานสรุปผลการดำเนินงานการประชุมนานาชาติจีน-ไทย จากการวิจัยสู่นโยบายการส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่ชุมชน (China-Thailand Conference on Research and Policy towards Science Communication and Public Science Literacy)

ชื่อนักวิจัย

ประเภทผลงาน

บทคัดย่อ

ความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของประชาชนเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับวางแผนและกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและสร้างความตระหนักรู้ด้านดังกล่าวให้กับประชาชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประเทศอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ อาทิ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน และมาเลเซีย จึงมีการสำรวจและติดตามความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชากรอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย มีการสำรวจความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2551 และสำรวจซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. 2563 จากการศึกษาดังกล่าว ทำให้เกิดเครื่องมือวัดและข้อมูลความตระหนักรู้ ด้าน วทน. ของประชาชนไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาความตระหนักรู้ในด้านดังกล่าวของประชาชนไทย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการพัฒนาความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องในอนาคต ระบบวัดและการดำเนินการสำรวจความ ตระหนักรู้ฯ ของประชาชนในบริบทของประเทศไทย ยังคงต้องได้รับการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

จากเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการเล็งเห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญและมีประสบการณ์ในการสำรวจและส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 20 ปี จนทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถส่งเสริมและขับเคลื่อนดัชนีความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรม องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยความร่วมมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดทำโครงการ การประชุมนานาชาติ จีน-ไทย เรื่อง จากการวิจัยสู่นโยบายการส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม (China-Thailand Conference on Research and Policy towards Science Communication and Public Science Literacy) ขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการวิจัยและการสร้างความตระหนักด้าน วทน. ของประชาชนผ่านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ระหว่างผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนของประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในการประชุมได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจาก China Research Institute for Science Popularization (CRISP) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการสำรวจและสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนจีนมาอย่างยาวนานมากกว่า 20 ปี จำนวน 2 ท่าน และจาก อพวช. และ สอวช. ของประเทศไทย มาบรรยายประสบการณ์ด้านการศึกษา สำรวจ และการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชน   โดยการประชุมแบ่งออกเป็น 2 กิจกรรมหลัก: การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญ (ทั้งการบรรยาย ณ ห้องประชุม และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook: NSM Thailand) และการระดมความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมต่อการดำเนินการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทย เพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างและพัฒนาคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนจาก 41 หน่วยงาน และประชาชนทั่วไปของประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 152 คนเข้าร่วมประชุม และมีผู้เข้าร่วมรับชมการบรรยายของผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบออนไลน์ จำนวนทั้งสิ้น 256 คน

ในส่วนของการบรรยาย ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. นำเสนอความสำคัญของการส่งเสริมความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทยที่มีต่อการพัฒนาประเทศ ศาสตราจารย์ ดร. Goa Hongbin, Director of Division of Scientific Literacy Research จาก CRISP เล่าถึงความสำคัญของการศึกษาและการสำรวจความตระหนักรู้ด้าน วทน. และการส่งเสริมการพัฒนาประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน รองศาสตราจารย์ Ren Lei, Associate Researcher จาก CRISP นำเสนอความสำคัญ ของการพัฒนาระบบวัดความตระหนักรู้ด้าน วทน. เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายส่งเสริมการพัฒนาประเทศ และแนวทางการพัฒนาระบบวัดและสำรวจความตระหนักรู้ฯ ของประชาชนจีน และ ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการ อพวช. บรรยายถึงสถานภาพและความสำคัญของการวิจัยความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทย

ในส่วนของการระดมความคิดเห็นฯ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมประชุม เสนอแนวคิดต่อการดำเนินการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทย ใน 2 ประเด็นหลัก คือ (1) การส่งเสริมให้เกิดกลไกการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทย (Policy and Practice) และ (2) ประเด็นสำคัญที่ควรส่งเสริมความตระหนักรู้ฯ และหน่วยงานและบทบาทในการส่งเสริมความตระหนักรู้ฯ ในประเด็นการสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ฯ ที่ประชุมมุ่งเน้นไปที่กลไก การส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน โดยเสนอว่าประเทศไทยต้องส่งเสริมการผลิตสื่อด้าน วทน. ที่มีคุณภาพ ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ด้าน วทน. ของเยาวชน และส่งเสริมและกระตุ้นบุคคลรอบตัวเด็กและเยาวชน ได้แก่ ผู้ปกครองและครู ให้มีความสนใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของ วทน.

สำหรับประเด็นสำคัญที่ควรส่งเสริมความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทย และหน่วยงาน และบทบาทในการส่งเสริมความตระหนักรู้ฯ ที่ประชุมเสนอว่าประเทศไทยควรสร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ของประชาชนไทยในช่วง 10 ปี ข้างหน้าใน 8 ประเด็น คือ เทคโนโลยีดิจิทัล พลังงาน สุขภาพ ความมั่นคง ทางอาหาร สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ การรู้เท่าทันข่าวสาร และประเด็นเกี่ยวกับอวกาศที่มีผลกระทบกับมนุษย์ โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล สื่อ นักวิชาการ และชุมชนท้องถิ่น ในการกำหนดนโยบายส่งเสริม ความตระหนักรู้ด้าน วทน. (ซึ่งรวมถึงการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ) ของประชาชนไทยที่ชัดเจน และการนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนสำคัญในการส่งเสริม การสร้างความตระหนักรู้ฯ ของประชาชนของประเทศไทยในปัจจุบัน

โดยสรุป การประชุมนานาชาติ จีน-ไทย เรื่อง จากการวิจัยสู่นโยบายการส่งเสริมการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม เป็นไปด้วยความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ใน พัฒนาการสำรวจ ติดตาม และดำเนินการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและ สร้างความตระหนักรู้ด้าน วทน. ให้กับประชาชนไทย รวมทั้งยังสร้างความตื่นตัวและเครือข่ายในการขับเคลื่อน การพัฒนาดังกล่าว ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศไทย และระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับประเทศไทยอีกด้วย 

สถานที่พิมพ์

National Science Museum Thailand

สำนักพิมพ์

National Science Museum, Thailand

ปีที่พิมพ์

ผู้ถือสิทธิ์

เงื่อนไขการใช้ข้อมูล

Copyright