หมวดหมู่ผลงาน

สำนัก

ประเภทผลงาน

เจ้าของลิขสิทธิ์

ชื่อผลงานทางวิชาการ

การส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุด้วยการถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ชื่ออื่นๆ

The Promotion of Elderly Persons' Potentials through Wisdom and Knowledge Transfer in the Science Museum

ชื่อนักวิจัย

ประเภทผลงาน

บทคัดย่อ

ในงานวิจัยย่อยโครงการที่ 1 ต้นแบบการส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ภูมิปัญญาในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ดำเนินการกับกลุ่มผู้สูงวัยจำนวน 30 คน จากชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นในจังหวัดปทุมธานี พบว่าผู้สูงอายุได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพเป็นผู้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาต่าง ๆ ให้แก่ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เป็นอย่างดี เกิดประโยชน์โดยตรงแก่ผู้สูงวัยในทั้งสามมิติ คือด้านสุขภาพ ด้านการมีส่วนร่วมและด้านการมีความรู้สึกเคารพตนเองและรู้สึกมั่นคงในชีวิต ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์หลากหลายวัยที่มีโอกาสได้เรียนรู้จากผู้สูงวัยยังเกิดความประทับใจและเห็นคุณค่าในภูมิความรู้ของผู้สูงวัย และเกิดความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้สูงวัยในพิพิธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

ในงานวิจัยย่อยโครงการที่ 2 ต้นแบบโปรแกรมส่งเสริมการเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างวัยของสมาชิกในครอบครัวโดยใช้กิจกรรมพิพิธภัณฑ์ พบว่ากิจกรรมทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นและการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างครอบครัว ผู้สูงวัยได้มีโอกาสออกมานอกบ้าน และทำกิจกรรมกับลูกหลานในสภาพแวดล้อมและหัวข้อที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการส่งเสริมการสื่อสารระหว่างวัยได้แก่  1) บริบทการเรียนรู้ เช่น เรื่องราว สภาพแวดล้อม 2) การส่งเสริมการสนทนาแลกเปลี่ยนความเห็น 3) การตั้งเป้าหมายของผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ชัดเจนร่วมกัน โดยข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงคือความแตกต่างด้านกายภาพและสุขภาพของผู้สูงอายุ รวมทั้งการแบ่งบทบาทที่ชัดเจนและเหมาะสมของสมาชิกในครอบครัว งานวิจัยย่อยโครงการที่ 3 ต้นแบบการพัฒนาทักษะการเป็นนักประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์สำหรับผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมของเล่นภูมิปัญญาไทย พบว่าผู้สูงวัยมีศักยภาพในการประดิษฐ์ของเล่นภูมิปัญญาไทยโดยใช้เครื่องมือช่างเป็นอย่างดี รวมทั้งมีความสนใจทักษะด้านดิจิทัล เกิดความสนุก และแรงบันดาลใจในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างของเล่นภูมิปัญญาไทยที่มีรูปแบบใหม่ ๆ มีเอกลักษณ์และเรื่องราวของตนเอง และมีความต้องการที่จะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ

ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาทักษะการเป็นนักประดิษฐ์และความคิดสร้างสรรค์ของผู้สูงวัยขึ้นกับความต้องการของผู้สูงอายุในการพัฒนาตนเอง การจัดลำดับของกิจกรรมให้ไม่ซับซ้อนและเข้าใจง่าย มีบรรยากาศสนุกสนานเป็นกันเอง การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้อย่างชัดเจน ภาพรวมจากงานวิจัยทั้งสามโครงการในแผนงานพบว่าปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญคือการมีอำนวยกรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงวัย ซึ่งอำนวยกรจะเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดี ทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่เครียด รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างกัน ผลการวิจัยในแผนงานนี้ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมในพิพิธภัณฑ์สามารถนำมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผู้สูงวัยในมิติต่าง ๆ ได้อย่างดี ในอนาคตพิพิธภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จึงสามารถเป็นพื้นที่ในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาสังคมสูงวัยและสร้างความเข้าใจระหว่างคนต่างวัยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคม 


สถานที่พิมพ์

ปทุมธานี

สำนักพิมพ์

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ปีที่พิมพ์

เงื่อนไขการใช้ข้อมูล

Copyright