หมวดหมู่ผลงาน

สำนัก

ประเภทผลงาน

เจ้าของลิขสิทธิ์

ชื่อผลงานทางวิชาการ

รายงานสรุป : การพัฒนาบุคลากร อพวช. ด้านงานวิจัย พ.ศ. 2565

หมวดหมู่ผลงาน

ประเภทผลงาน

บทคัดย่อ

การพัฒนาศักยภาพบุคลากร อพวช. ด้านงานวิจัย เป็นความร่วมมือของสำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ศูนย์พัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และสำนักบริการกลาง โดยจัดทำเป็นชุด การบรรยายและการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่และรุ่นกลางได้ทบทวนแนวทางการวิจัย เพิ่มพูนทักษะ และเปิดมุมมองใหม่ในการออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของนโยบายประเทศและสังคม ประกอบด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้

ครั้งที่ 1 เรื่อง แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัย การทำวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เป็นกระบวนการศึกษาซึ่งใช้หลักการพื้นฐาน ในส่วนการวิจัยทางธรรมชาติวิทยา วิทยากรชี้ให้เห็นพัฒนาการใน การกำหนดกรอบการวิจัยที่แตกต่างในแต่ละระยะเวลาการทำงาน ด้วยการยกตัวอย่างจากความสนใจและ การศึกษาวิจัยฐานราก กระท่างน้ำที่มีการศึกษาทั้งระดับสัณฐานวิทยา ถิ่นอาศัย และมิติอื่น ๆ ในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพฤกษศาสตร์ วิทยากรกระตุ้นเตือนให้เห็นความสำคัญของการบูรณากับศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับชุมชนและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจในสังคม

ในส่วนงานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์นั้น งานพิพิธภัณฑ์ที่มีกลุ่มผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้ผู้ชมตระหนักถึงผลิตภัณฑ์ของพิพิธภัณฑ์ และการพัฒนาให้สอดคล้องกับความสนใจและความคาดหวังของกลุ่มผู้ชม สุดท้าย วิทยากรที่กล่าวถึงการวิจัย เชิงนโยบายที่มีความซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายและกลไกในการรองรับ

ครั้งที่ 2 เรื่อง การกำหนดหัวข้องานวิจัย

  • การกำหนดหัวข้องานวิจัยทางธรรมชาติวิทยา ปัญหาของงานวิจัยสามารถหาได้จากการสังเกตและหาข้อมูลในปัจจุบัน แล้วลองตั้งปัญหากับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวมาเป็นหัวข้อในการวิจัย ความสำคัญของงานวิจัยคือวัตถุดิบหรือวัสดุในการทำงานวิจัยกับการดำเนินงาน ซึ่งงานวิจัยที่สามารถตีพิมพ์ในระดับนานาชาติควรเป็น งานระดับสากลและใช้วิธีการทดลองซึ่งได้รับการอ้างอิงอย่างเป็นสากล ในภาคบ่าย ให้นักวิชาการด้านธรรมชาติวิทยาได้ลองยกตัวอย่างงานที่กำลังดำเนินการ และอภิปรายกับวิทยากรถึงแนวทางและข้อคิดที่เป็นไปได้ใน การแตกประเด็นการศึกษาให้มีความลุ่มลึกมากขึ้น
  • การกำหนดหัวข้องานวิจัยทางสังคมศาสตร์ การทำวิจัยทางสังคมศาสตร์นั้นในช่วงแรก ๆ ใช้หลักการเดียวกับวิทยาศาสตร์ แต่ภายหลังการวิจัยแนวใหม่นั้นเน้นไปที่การพูดคุย ปฏิสัมพันธ์ ใช้สถานที่ เวลา ที่จะทำให้เข้าใจคน ไม่ใช่วิธีการวัด การตวง หรือจากแบบสอบถาม ซึ่งหัวข้อทางด้านสังคมศาสตร์สามารถได้มาจากช่องว่างของการวิจัยดังนี้ ช่องว่างของความรู้, ช่องว่างของการปฏิบัติ, ช่องว่างของวิธีวิทยาการวิจัย, ช่องว่างในเชิงหลักฐาน, ช่องว่างหลักฐานเชิงประจักษ์, ช่องว่างทางทฤษฎี, ช่องว่างของประชากร และในช่วงบ่ายให้แบ่งกลุ่ม การทำงานเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้กำหนดแนวทางที่ตอบโจทย์ 5 ประการ เหตุใดหัวข้อดังกล่าวมีความสำคัญ ช่องว่างในการศึกษาที่ต้องการเข้าไปเติมเต็ม กลุ่มประชากรที่ต้องการศึกษา และปัจจัยแวดล้อมใดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อการศึกษา

ครั้งที่ 3 เรื่อง การขอทุนวิจัย ขั้นตอน วิธีการ แนวทาง ตลอดจนช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนวิจัยในแต่ละสาขาทั้งสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั้งจากหน่วยงานภายในประเทศและนอกประเทศ โดยแต่ละแหล่งทุน จะมีรอบเวลาการยื่นข้อเสนอขอรับทุนเป็นช่วงเดียวกันของทุกปี นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานที่ให้ทุน อธิบายถึงประเภทของทุนและระยะเวลาในการรับสมัครในแต่ละปี ผู้สนใจควรเตรียมแบบยื่นข้อเสนอเพื่อรับทุนล่วงหน้า การยื่นขอรับทุนมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงควรศึกษาคู่มือหรือรายละเอียดการขอทุนให้รอบคอบ เพื่อจะไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับทุน

ครั้งที่ 4 เรื่อง การพัฒนาโครงการวิจัย วิทยากรกล่าวถึงโครงการที่ดีจะมีโอกาสได้รับทุนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการเขียนข้อเสนอในแต่ละหัวข้อต้องละเอียด ถูกต้อง ชัดเจน อ้างอิงข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหัวข้อ ที่มาและความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของโครงการต้องชัดเจนระบุให้เห็นถึงความสำคัญและเหตุจำเป็นที่ต้องทำโครงการนี้ ลักษณะการอบรมเชิงปฏิบัติการในส่วนงานสังคมศาสตร์ ได้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมอบรมใช้กรอบการอุดหนุนทุนวิจัยนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษา

ครั้งที่ 5 เรื่อง จริยธรรมงานวิจัยและระเบียบขั้นตอนในการเข้าพื้นที่อนุรักษ์ การทำวิจัยทั้งในมนุษย์และสัตว์จำเป็นต้องขอจริยธรรมการทำวิจัยทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยที่ศึกษากับสัตว์จะต้องขอรับใบอนุญาตใช้สัตว์ทดลอง จากสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สพสว.) จึงจะสามารถใช้สัตว์ทดลอง โดยต้องคำนึงถึงสุขภาวะของสัตว์ และการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม นอกจากนี้ การจัดตั้งคณะกรรมการจริยธรรมงานวิจัยในคนและในสัตว์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานวิจัยในปัจจุบัน เพราะการดำเนินการต่าง ๆ และการเผยแพร่ผลงานวิจัย ให้เป็นที่ยอมรับของสาธารณะ จะต้องมีขั้นตอนการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อแสดงให้เห็นว่างานวิจัยนั้น ๆ ดำเนินการอยู่ในจริยธรรมและข้อกำหนด ที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและสาขาวิชาการ รวมถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ครั้งที่ 6 เรื่อง ระบบบริหารงานวิจัย NARIIS และข้อคิดในการพัฒนาโครงการเพื่อรับทุนสนับสนุนการวิจัย แหล่งทุนแต่ละแหล่งต่างมีกำหนดการต่าง ๆ เช่น การรับสมัคร การยื่นเอกสาร การส่งรายงานความก้าวหน้า รวมถึงมีแบบแผน รูปแบบเอกสาร และข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่จะขอทุนจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดของทุนให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน นอกจากนี้ วิทยากรบุคลากรภายในที่ติดตามงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัย สกสว. กล่าวถึงระบบติดตามงานวิจัย ที่ควรได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานวิจัย

สถานที่พิมพ์

ปทุมธานี

สำนักพิมพ์

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ปีที่พิมพ์

เงื่อนไขการใช้ข้อมูล

CC BY-NC-ND