ชื่อผลงานทางวิชาการ
การใช้กับดักแสงไฟเพื่อลดปริมาณผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักในสวนป่า
ชื่ออื่นๆ
Using Light Trap to Control Teak Beehole Borer in Plantation
ชื่อนักวิจัย
หมวดหมู่ผลงาน
ประเภทผลงาน
บทคัดย่อ
ไม้สัก (Tectona grandis Linn. F.) เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบในช่วงฤดูร้อน และเป็นไม้ที่มีมูลค่าสูงของประเทศไทย แต่มีปัญหาแมลงศัตรูทำลายเนื้อไม้ที่สำคัญคือผีเสื้อหนอนเจาะต้นสัก (Xyleutes ceramicus Walker) เนื้อไม้เกิดรูตำหนิ และมีคุณภาพลดลง ปัจจุบันยังคงพบการระบาดอยู่ในแถบจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ ตาก และกำแพงเพชร ซึ่งยังไม่มีวิธีที่เบ็ดเสร็จภายในขั้นตอนเดียว ต้องอาศัยวิธีการหลายๆ วิธีมาประยุกต์ใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดผลในการป้องกันกำจัดได้ดีที่สุด โครงการวิจัย “การใช้กับดักแสงไฟเพื่อลดปริมาณหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักในสวนป่า” เป็นแนวทางหนึ่งที่คาดว่าจะสามารถช่วยลดการระบาดของหนอนผีเสื้อเจาะต้นสักได้จากการลดปริมาณของผีเสื้อตัวเต็มวัยซึ่งจะออกจากต้นสักราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายนของทุกปี
จากการศึกษาพบว่าปริมาณตัวเต็มวัยเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีในแปลงปลูกสักอายุน้อยมีมากที่สุด และมีปริมาณลดลงเมื่อไม้สักมีอายุมากขึ้น การศึกษานี้พบตัวเต็มวัยปริมาณมากในปีแรกของการศึกษาและพบน้อยในปีที่ 2 และ 3 แต่อย่างไรก็ตามในช่วงที่ทำการศึกษามีปริมาณตัวเต็มวัยเฉลี่ยต่อไร่ต่อปีค่อนข้างน้อย เฉลี่ยไม่เกิน 7 ตัวต่อไร่ต่อปี (พิจารณาจากจำนวนคราบในแปลงที่ไม่ติดตั้งกับดักแสงไฟ)
ความสูงของรูเจาะออกใหม่หรือความสูงของคราบดักแด้บนต้นสัก อันแสดงถึงความเสียหายต่อเนื้อไม้ที่สามารถใช้เป็นสินค้า จากการศึกษาพบว่า ต้นสักอายุน้อยถูกเจาะทำลายที่ระดับต่ำโดยมีค่าเฉลี่ยไม่เกิน 3 เมตร และเมื่อสักอายุมากขึ้นผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักจะเจาะเข้าไปในต้นสักที่ระดับสูงขึ้น จากข้อมูลนี้ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และกำจัดผีเสื้อหนอนเจาะต้นสักควรเน้นดำเนินการในแปลงปลูกสักอายุน้อยๆ (1-10 ปี) อย่างเข้มข้น
สถานที่พิมพ์
ปทุมธานี
สำนักพิมพ์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ปีที่พิมพ์
ผู้ถือสิทธิ์
เงื่อนไขการใช้ข้อมูล
Copyright