ชื่อผลงานทางวิชาการ
ความสัมพันธ์ของมดต้นไม้สิรินธร (Cladomyrma sirindhornae) กับพืชอาศัย (Sphenodesme pentandra Jack) ในภาคตะวันออกของประเทศไทย
ชื่ออื่นๆ
Relationship between Cladomyrma sirindhornae and its host plant, Sphenodesme pentandra Jack in Eastern Thailand
ชื่อนักวิจัย
หมวดหมู่ผลงาน
ประเภทผลงาน
บทคัดย่อ
มดต้นไม้สิรินธร (CLadomyrma sirindhornae Jaitrong, Leadprathom et Yamane, 2013) เป็นมดชนิดใหม่ของโลกซึ่งได้รับพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้ทราบข้อมูลของมดชนิดนี้มากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินการศึกษานิเวศวิทยาและความสัมพันธ์ของมดกับพืชอาศัยเพิ่มเติม และการศึกษานี้ยังเป็นการเผยแผ่พระเกียรติยศของสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารีให้ชาวโลกได้รับรู้ในแง่มุมของนักอนุรักษ์ที่สำคัญพระองค์หนึ่งของโลกด้วย จากการศึกษาเป็นระยะเวลา 1 ปี สามารถสรุปผลได้ดังนี้ มดต้นไม้สิรินธรมีเขตแพร่กระจายอยู่ในทุกจังหวัดภาคตะวันออกของประเทศไทย และในภาคกลางจังหวัดสระบุรีและนครนายก ส่วนใหญ่พบมดต้นไม้สิรินธรบริเวณชายป่าดิบแล้ง ชายป่าดิบชื้น ป่าละเมาะ และในป่าทดแทน (เดิมเคยเป็นป่าดิบแล้งหรือป่าดิบชื้น) ไม่พบมดชนิดนี้ในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลจากป่าธรรมชาติ
พบมดต้นไม้สิรินธรสร้างรังอยู่เฉพาะภายในลำต้นของไม้เถาฮ่อสะพายควาย (Sphenodesme pentandra Jack) ร้อยละ 96.30 ของต้นฮ่อสะพายควายในภาคตะวันออกถูกยึดครองและใช้หรือเคยใช้เป็นที่สร้างรังโดยมดต้นไม้สิรินธร พอจะสรุปได้เบื้องต้นว่ามดต้นไม้สิรินธรและต้นฮ่อสะพายควายอาจอยู่ด้วยกันแบบผึ่งพาอาศัย โดยต้นฮ่อสะพายควายมีแกนกลางเป็นช่องว่าง เหมาะสำหรับเป็นที่สร้างรังของมด ซึ่งมดใช้ช่องว่างนี้เป็นที่สร้างรัง เมื่อต้นไม้ถูกรบกวนมดจะออกมาอยู่บริเวณลำต้นและปลายยอดเป็นจำนวนมากเพื่อคอยป้องกันศัตรูให้กับพืชอาศัย
มดหนึ่งรังมีประชากรของมดงาน (Worker) 3157.50±1191.93 ตัว พบอาศัยอยู่ตั้งแต่โคนต้นถึงปลายยอดของต้นฮ่อสะพายควาย มดงานมีรูปร่าง 2 รูปแบบ ได้แก่ มดงานขนาดใหญ่ (Major worker) มีค่าเฉลี่ย 354.83±212.26 ตัวต่อรัง และมดงานขนาดเล็ก (Minor worker) มีค่าเฉลี่ย 2622.70±1083.90 ต่อรัง สัดส่วนระหว่างมดงานขนาดใหญ่ต่อมดงานขนาดเล็กมีค่าเท่ากับประมาณ 1 ต่อ 5 ตัว ประชากรของมดต้นไม้สิรินธรในช่วงฤดูฝนมีแนวโน้มมากกว่าในช่วงฤดูแล้ง แต่การศึกษานี้มีข้อมูลจำนวนรังที่ใช้ศึกษาน้อยมากจึงไม่สามารถสรุปความแตกต่างจำนวนประชากรของมดระหว่างฤดูกาลได้ชัดเจน
สถานที่พิมพ์
ปทุมธานี
สำนักพิมพ์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ปีที่พิมพ์
ผู้ถือสิทธิ์
เงื่อนไขการใช้ข้อมูล
Copyright